5 กุมภาพันธ์ 2568 – นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ด้วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดย ดร.วาสุกาญจน์ บู่ทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เป็นผู้กล่าวรายงานฯ ซึ่งมีผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาจากทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 1,500 คน เข้าร่วมผ่านรูปแบบออนไลน์ระบบ Zoom และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook live
การบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
รองปลัด ศธ. กล่าวว่า “การทำงานอะไรก็ตาม เราต้องมีการวางแผน มีหลักการในการทำงาน มีการเตรียมการ มีการประเมินผลลัพธ์ ผลกระทบ เช่น การใช้หลักการ PDCA ในการพัฒนาและปรับปรุงนวัตกรรม ส่งเสริมการทดลอง ประเมินผล และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการส่งเสริมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ และการให้รางวัล เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมต่อไป”
ความสำคัญของหลักสูตรการพัฒนาทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม
สำหรับหลักสูตรการพัฒนาทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ด้วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความสำคัญในการทำงานในยุคปัจจุบัน ดังนี้:
- เรื่องของการการบริหารจัดการเรียนการสอนต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นลดภาระครูและผู้ปกครอง ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ เจตคติที่ดี และรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งการมีสื่อการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสมจะช่วยให้เด็กเกิดความสนใจและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
- เรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการบริหารจัดการการทำงาน โดยใช้การประชุมรูปแบบดิจิทัล การติดตามผลการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์ในการพัฒนาการศึกษา
- เรื่องของการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ โดยการเรียนรู้จากต้นแบบและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ควรปรับให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และมีเวทีนำเสนอนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน
กำหนดการฝึกอบรม
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ แบ่งการอบรมเป็น 2 ระยะ ดังนี้:
- ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 5 – 7 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการสร้างสื่อการสอนด้วยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัล
- ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2568 เป็นการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมการประยุกต์ใช้ AI ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือและทางเลือกใช้ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในยุคปัญญาประดิษฐ์
ศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมการพัฒนา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สป.